ผลการสำรวจระดับความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปี 2565

ผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง ยา เครื่องมือแพทย์ วัตถุเสพติด และวัตถุอันตราย เป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของประชาชน ที่ยังคงมีการตรวจจับและพบปัญหาในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจึงเป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับชุมชนของประเทศไทย


การศึกษาสำรวจเพื่อประเมินผลในครั้งนี้จะสำรวจระดับความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพและการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง เก็บข้อมูลในเชิงปริมาณจากแบบสำรวจความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในประชาชนไทย โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,201 คน และการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้แก่ ครู เภสัชกร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค จำนวน 10 ท่าน พบว่า คะแนนความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของคนไทยที่สามารถมาวิเคราะห์ต่อได้อยู่ 1,201 คน เป็นผู้อยู่ในระดับพอเพียงและดีเยี่ยมรวมกันอยู่ที่ร้อยละ 73.3 (คะแนนพอเพียงที่ร้อยละ 54.4 และคะแนนดีเยี่ยมที่ร้อยละ 18.9) ส่วนกลุ่มที่อยู่ในระดับมีปัญหามีปริมาณที่ร้อยละ 20.3 และมีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 6.4 เท่านั้นที่อยู่ในกลุ่มมีปัญหา ทั้งในส่วนขององค์ประกอบย่อยต่าง ๆ พบว่า คะแนนข้อมูลในปี พ.ศ. 2565 สูงกว่าปี พ.ศ. 2564 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในภาพรวมและในหลายองค์ประกอบย่อย ได้แก่ องค์ประกอบการเข้าถึง t(3118) = 6.09, p < .001 องค์ประกอบความเข้าใจ t(3118) = 2.00, p < .05 องค์ประกอบโต้ตอบ ซักถาม แลกเปลี่ยน t(3118) = 3.01, p < .01 องค์ประกอบเปลี่ยนพฤติกรรม t(3118) = 2.60, p < .01 และองค์ประกอบบอกต่อ t(3118) = 3.62, p < .001 แต่ไม่พบความแตกต่างของคะแนนองค์ประกอบตัดสินใจ


สำหรับผลการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่ามีเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลเชิงปริมาณที่แสดงในข้างต้น กล่าวคือชุมชนมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นการเสริมสร้างความรู้และการจัดการสภาพแวดล้อมในชุมชน และยังไม่ได้มีกำหนดรูปแบบหรือรายละเอียดของกิจกรรมที่เน้นไปในการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ซึ่งคณะผู้ประเมินได้ทำการอภิปรายและให้ข้อเสนอแนะที่การประเมินพฤติกรรม และการจัดกิจกรรมเสริมสร้างทักษะที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้บริโภค


คำสำคัญ​: ความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ, สังคมรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ, กิจกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ , ประเมินระดับความรอบรู้
ดาวน์โหลดฉบับเต็ม Download: https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1g-0AtP57jrXqmHWMzUwwks37dkcZyp9k
ติดต่อ นางสาวธิดารัตน์ อภิญญา 02 590 7124 
Tuang1804
เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
Tuang1804
เอกสารฉบับเต็ม https://drive.google.com/drive/u/0/folders/1g-0AtP57jrXqmHWMzUwwks37dkcZyp9k