ยาต้านไวรัส HIV แบบป้องกันและฉุกเฉิน คืออะไร

ยาต้านไวรัส HIV คืออะไร

ยาต้านไวรัสคือยาที่ใช้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV มีการใช้ใน 2 ลักษณะ ทั้งในช่วงก่อนหรือหลังจากการสัมผัสเชื้อ HIV สำหรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อนั้น เรียกว่ายา PrEP ซึ่งย่อมาจาก Pre-Exposure Prophylaxis (ยาต้านก่อนเสี่ยง) และยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อนั้น เรียกว่ายา PEP โดยย่อมาจาก Post -Exposure Prophylaxis (ยาต้านฉุกเฉิน)

ยาต้านไวรัสเอชไอวีเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดถึง 99% หากมีการใช้อย่างถูกวิธี

Exposure prophylaxis เป็นยาที่ทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV เท่านั้น ไม่ได้รวมถึงโรคอื่น โดยก่อนการรับยาต้องมีการประเมินความเสี่ยงจากประวัติของคนไข้ว่าตรงตามเงื่อนไขการรับยาหรือไม่ ประกอบกับการตรวจเลือดตามมาตรฐานสากล(คนไข้ที่จะรับยาจะต้องมีผล HIV เป็นลบ) และยาในกลุ่มนี้ต้องพิจารณาจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น


ประเภทของยาต้าน ยารักษา HIV หรือที่เรียกว่ายา Antiretroviral (ARV) นั้น ถูกแบ่งได้ตามกลไกการทำงาน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) มีกลไกลการยับยั้งการทำงานของ Reverse transcriptase ซึ่งเป็นenzymeที่ไว้เปลี่ยน RNA ของเชื้อเป็น DNA เพื่อใช้ในการเข้าสู่ host cell ซึ่งส่งผลทำให้การเชื่อมต่อสารพันธุกรรมของเชื้อหยุดลง เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนต่อไปได้ ยาในกลุ่มนี้ เช่น Tenofovir disoproxil fumarate (TDF), Emtricitabine (FTC) เป็นต้น
  2. Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor (NNRTIs) กลไกของยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของ Reverse transcriptase เช่นเดียวกับยากลุ่ม NRTIs เช่น Efavirenz (EFV), Rilpivirine (RVP)
  3. Integrase inhibitor strand transfer inhibitor (INSTs) ยับยั้งกระบวนการ integration โดยในยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของ integrase ของเชื้อที่ใช้ในการเชื่อมสาย DNA ของตัวเชื้อเข้ากับ host cell ยาในกลุ่มนี้ เช่น Dolutegravir (DTG), Bictegravir (BIC)
  4. Protease Inhibitors (PIs) รบกวนการทำงานของ Protease ซึ่งทำให้เชื้อไม่สามารถรวมโปรตีนเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ได้ ยาในกลุ่มนี้เช่น Lopinavir+Ritonavir (LPV/r)


ยาต้านไวรัส ที่ใช้ทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV มีอะไรบ้าง

ยาในกลุ่มนี้สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภทอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ดังนี้

Pre-exposure prophylaxis (PrEP)

Pre-exposure prophylaxis (PrEP) การตรวจเลือดก่อนรับยาต้องใช้ผลตรวจดังต่อไปนี้ Anti-HIV ไวรัสตับอักเสบบี และการทำงานของไต หากเป็นครั้งแรกที่คนไข้มารับยา PrEP แพทย์จะจ่ายาให้ไปใช้สำหรับ 1 เดือนก่อน และจะนัดมาตรวจ Anti-HIV

อย่างไรก็ตามหากเป็นไปได้ถึงแม้ว่าจะใช้ยา PrEP แล้วก็ตามการใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยก็จะเป็นการ double protection ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกัน HIV รวมถึงโรคอื่นๆได้ด้วย และยา PrEP สามารถทานได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายและผลข้างเคียงในระยะยาว แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์

โดยผู้ที่ทานยา PrEP อย่างต่อเนื่องควรมีการนัดตรวจติดตามผลเลือดกับแพทย์ทุกๆ 3 เดือน


Post exposure prophylaxis (PEP)

Post exposure prophylaxis (PEP) ยาต้านฉุกเฉิน หรือยาต้าน HIV ที่ทานหลังจากมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อมา โดยยาที่ใช้ในกลุ่มนี้เป็นประเภท Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitors (NRTIs) Non-Nucleoside Reverse Transcriptase Inhibitor (NNRTIs) Integrase inhibitor strand transfer inhibitor (INSTs) และ Protease inhibitor(PIs) ขึ้นกับแพทย์จะพิจารณา ยากลุ่มนี้จะมีเงื่อนไขที่มากกว่าและรัดกุมกว่าการรับยา PrEP โดยยา PEP ต้องรับภายใน 72 ชม.

หลังจากได้รับความเสี่ยงเท่านั้น ถ้าเวลาเกินไปมากกว่า 72ชม. การใช้ยา PEP จะแทบไม่เกิดประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ผู้รับยาต้องมีการตรวจเลือดดังต่อไปนี้ก่อนการรับยา: Anti-HIV, ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส ค่าการทำงานของไต และค่าเอนไซม์ตับ โดยยา PEP จะต้องทานทั้งสิ้น 28 วัน

โดยหลังทานยาครบตามที่แพทย์กำหนดจะต้องมีการตรวจ Anti-HIV ซ้ำ การรับยา PEP สามารถรับได้มากกว่า 1 ครั้งและสามารถรับซ้ำได้ในทุก ๆ ครั้งที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้น การใช้ยา PEP ไม่ได้ทำให้เกิดการดื้อยาแต่อย่างใด


ใครบ้างควรรับยาต้านไวรัส HIV

ใครบ้างที่ควรได้รับยาต้านไวรัส HIV ทาง Safe Clinic จะแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก ๆ คือการรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงก่อนการติดเชื้อนั้น มีชื่อว่า PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)หรือ ยาต้านก่อนเสี่ยง และการรับยาที่รับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังจากสัมผัสเชื้อนั้น เรียกว่า PEP (Post -Exposure Prophylaxis) หรือยาต้านฉุกเฉิน


ใครบ้างควรได้รับ PrEP

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบผลเลือดและมีการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่คู่นอนเป็นผู้ติดเชื้อ HIV (ยาควรได้รับการพิจารณาจ่ายโดยแพทย์)


ใครบ้างควรได้รับ PEP

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถูกข่มขืน หรือ มีการป้องกันแต่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างมีเพศสัมพันธ์เช่น ถุงยางหลุด ถุงยางฉีกขาด ฯลฯ
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ หรือ สัมผัสเลือด หรือ ได้รับสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อ HIV
  • บุคคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุ มีดบาด เข็มตำในโรงพยาบาลจากการทำหัตถการให้คนไข้


ข้อควรรู้ก่อนรับยาต้าน HIV

  • กรณีของยา PEP หรือยาต้านฉุกเฉิน ที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นเกิน 72 ชม. มาแล้วไม่จำเป็นต้องรับยา แต่ควรมาตรวจเลือดหลังจากผ่านไปอย่างน้อย 14-21 วันหลังจากวันที่มีความเสี่ยง
  • ผู้ที่ต้องการรับยาแต่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพราะมีผลต่อการเลือกสูตรยาที่จะใช้


ยาต้านไวรัส HIV รับได้ที่ไหน

การรับยาต้าน ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการได้ตามสถานบริการของรัฐ เอกชน หรือคลินิกเฉพาะทางที่มีแพทย์ประจำ เนื่องจากการรับยาต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ และจำเป็นจะต้องมีการตรวจเลือดทุกครั้งที่รับยา เพื่อความปลอดภัย และลดผลข้างเคียงที่อาจจะตามมาได้หลังจากการรับยา


สรุป

ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงอย่านิ่งนอนใจ รีบพบแพทย์ตรวจเลือด และเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ต้องกลัว เขิน อาย หรือกังวล เพราะ HIV สามารถป้องกันได้ และหากพบว่ามีการติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆ การเริ่มการรักษาได้เร็วจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอายุยืนยาวได้เท่ากับคนปกติ


แหล่งที่มา : https://www.bangkoksafeclinic.com/th/arv/

admin.fda
Administrator