“สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่ม จากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในเขตพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี”

     ในปัจจุบันการบริโภคน้ำจากตู้น้ำแบบหยอดเหรียญหรือตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นสูงมากเพราะมีราคาถูกเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำดื่มบรรจุขวด โดยมีการกระจายติดตั้งอยู่ตามแหล่งชุมชนทั่วไป และมีความหนาแน่นในแหล่งชุมชนที่อยู่ใกล้กับหอพัก ห้องเช่า อพาร์ทเมนท์ คอนโดมิเนียม โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ ด้วยความนิยมในการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีการออกประกาศฉบับที่ 362 พ.ศ. 2556 เรื่อง น้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มฯ
เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมดูแลตู้น้ำฯ ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ในลักษณะที่กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตจากพนักงานท้องถิ่น ต้องบำรุงดูแลรักษาเพื่อให้น้ำบริโภคนั้นมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องมีการจัดสถานที่สำหรับประกอบกิจการนั้นให้ถูกต้องด้วย เช่น สถานที่จัดวางตู้น้ำฯ นั้น ต้องตั้งในบริเวณที่เหมาะสม ไม่มีน้ำท่วมขัง และสามารถระบายน้ำออกได้สะดวก เป็นต้น และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็บังคับให้ผู้ประกอบการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว ต้องขออนุญาตการติดฉลากตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 (พ.ศ. 2553) เรื่องให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

     งานวิจัยศึกษาสถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากน้ำดื่มหยอดเหรียญ ของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้สำรวจคุณภาพน้ำจากตู้น้ำฯ  ทั้งหมด 855 ตู้จาก 18 ในเขตของกรุงเทพมหานคร พบว่า

  1. มีเพียงร้อยละ 8.24 ของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในการสำรวจ (855 ตู้) ที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ
  2. ร้อยละ 76.3 ตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีฝุ่นมาก เช่น ริมถนนบนทางเท้า
  3. ร้อยละ 47.7 ไม่มีการยกระดับตู้ให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร
  4. ร้อย ละ 28.3 ตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำขัง/แหล่งระบายน้ำเสีย (บางครั้งพบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญในบริเวณใกล้ กัน)
  5. ร้อยละ 22 ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแมลงและสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น แมลงสาบ หนู แมลงวัน
  6. ร้อยละ 93.8 ของน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มในตู้เหล่านี้เป็นน้ำประปา ซึ่งถือเป็นเรื่องดีเพราะน้ำประปาเป็นน้ำที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพแล้ว
  7. มีเพียงร้อยละ 58.7 ของตู้เหล่านี้ที่ได้รับการบำรุงรักษาและทำความสะอาดถังเก็บน้ำ อย่างน้อยเดือนละครั้ง
  8. ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข
  9. ตู้กดน้ำส่วนใหญ่ไม่มีการติดฉลากบอกข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน หรือ วัน เดือน ปีที่เปลี่ยนไส้กรอง หรือมีแต่ก็ไม่ครบถ้วน
  10. ทีมสำรวจพบทั้งตู้เก่าและตู้ใหม่บางตู้ติดตั้งมานานและไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบกิจการ มีสนิม มีรูรั่วซึม มีการผุกร่อน บางตู้ไม่มีฝาปิดช่องจ่ายน้ำบางตู้มีตะไคร่เกาะที่หัวจ่ายน้ำด้วย
  11. มีตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญจำนวนไม่น้อยที่ผู้สำรวจไม่สามารถติดตามพบเจ้าของผู้รับผิดชอบได้

     สำหรับคุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญในเขตพื้นที่เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2558
โดยมีการลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำดื่มฯ จำนวน 2 รอบ มีการทำความสะอาดหัวจ่ายน้ำแล้วจึงเก็บตัวอย่าง รอบที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ 2558 จำนวน 19 ตู้ รวม 38 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ความเป็นกรดด่าง ปริมาณของแข็งทั้งหมดในน้ำ ความกระด้าง คลอไรด์ ไนเตรทและฟลูออไรด์ และรอบที่ 2 เดือนมิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญเดิมในรอบที่ 1 ได้จำนวน 16 ตู้ รวม 31 ตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์ความเป็นกรดด่าง ปริมาณของแข็งทั้งหมดในน้ำ ความกระด้าง คลอไรด์ ไนเตรท ฟลูออไรด์ MPN Coliforms E. coli Salmonella spp. และ S. aureus โดยเปรียบเทียบคุณภาพน้ำตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 362 (พ.ศ.2556) เรื่องน้ำบริโภคจากตู้น้ำดื่มอัตโนมัติ ผลการสำรวจพบว่า

  1. ผู้ประกอบการน้ำตู้หยอดเหรียญในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีใช้น้ำประปาภูมิภาคเป็นน้ำดิบ
  2. ผลการตรวจวิเคราะห์รอบที่ 1 มีตัวอย่างน้ำที่ผ่านเครื่องกรองตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 1 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 5 เนื่องจากมีปริมาณความกระด้างสูง
  3. ผลการตรวจวิเคราะห์ในรอบที่ 2 มีตัวอย่างน้ำที่ผ่านเครื่องกรองตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านมาตรฐานจำนวน 1 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 6.2 เนื่องจากมีความเป็นกรดด่างต่ำ
  4. ผลการตรวจ MPN Coliforms E. coli Salmonella spp. และ S.aureus ผ่านมาตรฐานทั้ง 16 ตู้

     สำหรับปี 2559 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีและภาคีเครือข่ายฯ มีการดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างอย่างเนื่องโดยเก็บตัวอย่างน้ำดื่มฯ ในเขตเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีมาทดสอบคุณภาพด้วยชุดทดสอบแบบ Test-kit ตรวจวิเคราะห์ความเป็นกรดด่าง ปริมาณของแข็งทั้งหมดในน้ำ ความกระด้าง คลอไรด์ และ MPN Coliforms ผลการทดสอบพบว่า

  1. มีตู้น้ำฯ ที่สามารถใช้การได้จำนวนทั้งหมด 54 ตู้ ชำรุด 5 ตู้ และไม่พบตู้ตั้งอยู่ตามใบอนุญาต 12 ตู้
  2. ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั้ง 54 ตู้ พบว่ามีตู้น้ำฯไม่ผ่านการทดสอบ 10 ตู้ คิดเป็นร้อยละ 18.52 เนื่องจากพบโคลิฟอร์ม 2 ตู้ พบโคลิฟอร์มและ pH ต่ำ 1 ตู้ และ pH ต่ำ 7 ตู้

ปัญหาและอุปสรรคที่พบจากการดำเนินการ คือ การประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี มีการดำเนินกิจการโดยขาดการดูแลบำรุงรักษาสภาพของตู้น้ำและไส้กรองที่ถูกต้อง สุขลักษณะของสถานที่จัดวางไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้ผู้บริโภคควรมีการปล่อยน้ำทิ้งบางส่วนก่อนทำการบรรจุน้ำลงภาชนะ และควรเลือกซื้อน้ำดื่มฯ จากตู้น้ำฯที่ได้มาตรฐาน โดยดูจาก

  1.  สภาพ ภายนอก เลือกตู้ที่สะอาด มีการทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบริเวณรอบๆ จุดวางภาชนะ และหัวบรรจุต้องสะอาด เพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำควรเลือกใช้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เพราะแสงแดดมักทำให้เกิดตะไคร่ภายในหัวบรรจุ
  2. การควบคุมคุณภาพน้ำ เลือกตู้น้ำที่มีสติกเกอร์ แจ้งวัน เวลาการตรวจคุณภาพเครื่องและไส้กรอง
  3. สี กลิ่น รส สังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำ ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ควรเปลี่ยนตู้ใหม่เมื่อน้ำที่ได้มามีกลิ่นหรือรสชาติของน้ำเปลี่ยนไปจากเดิม หรือรอให้ตู้ที่ใช้อยู่เดิมนั้นได้รับการดูแลทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรอง เสียก่อน
  4. ภาชนะที่นำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและมีขนาดพอดีกับปริมาณน้ำที่ซื้อ และวางไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในน้ำดื่ม
chorismyname
เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด