โรงพยาบาลมหาสารคามอาหารปลอดภัย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

Food Safety,Good Nutrition,Good Taste @ MSKH Hospital

        พัฒนาคน พัฒนางาน มุ่งสร้างนวัตกรรม..................

............ต้นไม้แห่งความฝัน เติบโตแล้วที่อำเภอเมืองมหาสารคาม.......คนเราจะมีสุขภาพที่ดีลดการเจ็บป่วย มีเงินมีทองใช้ จับมือช่วยเหลือไม่ทิ้งกัน บ้านจะสวยเมืองจะสุข ............ต้นไม้จะเติบโตแผ่ขยายร่มเงา ผลิดอก ออกผลได้ รากแก้วต้องแข็งแรง โครงการที่คอยพยุงรากแก้วเหล่านี้ คือ โครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย และการดำเนินงานอาหารปลอดภัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวอำเภอเมืองมหาสารคาม การทำงานที่ผ่านมานำมาร้อยเรียงเรื่องเล่าการดำเนินการ ความภาคภูมิใจ การขยายผล และปัจจัยแห่งความสำเร็จ แบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาคน พัฒนางาน มุ่งสร้างนวัตกรรม ..........

ย้อนหลังไปเมื่อ 29 กันยายน 2560 จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ กลุ่มคนทำงานที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้น ชื่อว่า “คณะกรรมการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย” มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือจะทำอย่างไรให้เป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยความมุ่งมั่นเหล่านั้นทำให้เกิดการวางแผนงานในเวลาไม่นาน 1 เดือนถัดมา วันที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ตกผลึกทิศทาง ความคิด และขับเคลื่อน โดยการนำทัพใหญ่โดยท่าน นพ.สุนทร ยนต์ตระกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม และที่ปรึกษาโครงการที่คอยสนับสนุนทีมและเครือข่าย คือ นพ.ไพบูลย์ อัศวธนบดี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ) และ นพ.สุดชาย เลยวาณิชย์เจริญ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.ยโสธร) เป้าหมายด้านคุณภาพ ของโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย คือ “โรงพยาบาลมหาสารคาม อาหารปลอดภัย โภชนาการดี และรสชาติเลิศ” ดำเนินการทุกพื้นที่ในเขตโรงพยาบาล ได้แก่ โภชนาการ (โรงครัวโรงพยาบาล), ศูนย์จำหน่ายอาหาร, สหกรณ์ร้านค้าสวัสดิการ, และตลาดสีเขียวขายสินค้าเกษตรวันศุกร์ ณ ปัจจุบัน ปีงบประมาณ 2567 นำทัพโดยนายแพทย์ภาคภูมิ มโนสิทธิศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาสารคาม และ พญ.จรัญญา จุฬารี รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ ที่ปรึกษาโครงการ 

เมื่อมีขุนพลทำงาน เป้าหมายชัด ทิศทางการทำงานชัด โรงพยาบาลมหาสารคามจึงได้เริ่มดำเนินงาน ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นรูปแบบ (Model) ที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินงานมี 10 ขั้นตอน ที่ทำให้กรอบแนวคิดบรรลุวัตถุประสงค์ และได้รับเลือกเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยที่เป็นต้นแบบระดับเขตสุขภาพที่ 7

              การสร้างความรับรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ และผู้มารับบริการ เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเดินเข้ามาในโรงพยาบาลจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย จึงมีการประกาศสื่อสารนโยบายผ่านป้ายประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ การบูรณาการร่วมกับกลุ่มงานสุขศึกษาให้ความรู้กับประชาชนหน้าห้องตรวจ มีทูตอาหารปลอดภัยประจำโรงพยาบาล และประกาศนโยบายโดยท่าน นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 7 ให้เกียรติเป็นประธานเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นวันแห่งความรักใช้วันนี้เป็นตัวเชื่อมโยงเจ้าหน้าที่ เกษตรกรอินทรีย์ หน่วยงานราชการที่ร่วมบูรณาการ เช่น หน่วยงานรัฐภาคการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรมหาสารคาม ปศุสัตว์ เป็นต้น

             งานโภชนาการโรงพยาบาลจัดทำเมนูล่วงหน้า 2 เดือน ทำให้โรงพยาบาลมหาสารคามทราบปริมาณความต้องการวัตถุดิบ จำแนกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าปริมาณวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลมหาสารคาม มีความต้องการปริมาณมากทั้งผัก ผลไม้ ข้าวสาร ไข่ เนื้อสัตว์.......คนป่วยก็มีร่างกายจากสภาวะโรคที่เปราะบางอยู่แล้ววัตถุดิบที่นำมาปรุงควรเป็นของดี ๆ หากโรงพยาบาลมหาสารคามวางแผนบริหารจัดการในการจัดหาดี ๆ มูลค่าเงินที่ใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่มาก.......และทำไมจะต้องให้เงินตราไหลออกไปนอกจังหวัด หรือนอกประเทศไทยเรา! ทีมอาหารปลอดภัยจึงเริ่มออกหาแปลงเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามโดยออกร่วมกับทีมมหาสารคามเมืองสมุนไพรเพราะมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือทีมหนึ่งหาผัก วัตถุดิบปลอดสารมาผลิตอาหารให้ผู้ป่วย ทีมเมืองสมุนไพรหาสมุนไพรปลอดสารได้มาตรฐานมาใช้ทำยาสมุนไพรทีมสหสาขาวิชาชีพที่ออกแปลงเกษตรประกอบด้วยอดีตท่านผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ทันตะแพทย์ เภสัชกร นักโภชนาการ นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย คำถามต่าง ๆ ที่เข้ามาคือเราเป็นอะไร มาทำงานฝั่งเกษตรคำตอบในหัวทีมงานพวกเรา คือ เราจะเป็นอะไรก็ได้ที่ทำทุกอย่างเพื่อผู้ป่วยและประชาชน.....ลุย!!!!

            เมื่อหาวัตถุดิบปลอดสารระดับอินทรีย์ได้ เข้าสู่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส เป็นขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำงานเป็นเหมือน “Rate limiting  step”มีการบูรณาการทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก ผลของการจัดซื้อทำให้โรงพยาบาลมหาสารคามจัดหาผักปลอดสารระดับอินทรีย์ (Organic)ใช้ในโภชนาการโรงพยาบาลได้สูงถึงร้อยละ 75.24จากเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และเมื่อเทียบราคาผักชนิดเดียวกันกับปีงบประมาณที่ผ่านมาพบว่าซื้อได้ถูกลงถึง 276,792 บาทสมมติฐานที่ของดีราคาถูกไม่มีในโลก แต่ทำไมโรงพยาบาลจัดซื้อได้ถูกลง ถ้าจะถามอะไรเป็นปัจจัยก็คงจะเป็น “บุญ”เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับโรงพยาบาลที่อยากให้ผู้ป่วยได้ทานของดีและตอนแทนผืนแผ่นดินบ้านเกิด  ผักอินทรีย์ที่จัดหาเข้าโรงพยาบาลทำให้ผลิตเมนูอาหารปลอดภัยให้กับผู้ป่วยได้ร้อยละ 32เมนูอาหารปลอดภัยบางส่วน ร้อยละ 68

         

             โรงพยาบาลมหาสารคามมีการคิดค้นเมนูชูสุขภาพเพื่อสร้างอัตลักษณ์ด้านอาหาร (Signature food of MSKH)สู่ความเป็นสิทธิบัตรด้านภูมิปัญญา เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของทีมสหสาขาและเครือข่าย และมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ QR code มาใช้ในการสร้างความรอบรู้ด้านอาหารผ่านการบริโภค (Health Literacy)

              เมนู Signature food of MSKHเหล่านี้ นำมาใช้จริงโดยนำร่องเสริฟให้กับผู้ป่วยหอผู้ป่วยพิเศษตึก 60 ปี ชั้น 4 ชั้น 5 ของโรงพยาบาลเพื่อสร้างความเป็น Premium และตอบโจทย์เรื่อง Convenient Careจะมีป้ายเมนูชูสุขภาพตั้งข้างหัวเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยทราบในแต่ละวันจะมีเมนู Signature อะไรบ้าง เพื่อสร้างความพึงใจ ผลการสำรวจความพึงพอใจเมื่อผู้ป่วยได้บริโภคผักอินทรีย์สูงถึงร้อยละ 97 และ ความพึงพอใจเมนูชูสุขภาพร้อยละ 95

             มีการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเป็น Product Championคือ น้ำจระเข้รัญจวน”ใช้วัตถุดิบที่ปลอดสาร จากคนในพื้นที่ ให้พลังงานต่ำ ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล จัดเป็น Functional Drinkให้เกิดการสร้างรายได้และสร้างความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรในพื้นที่  

            หัวใจสำคัญของการเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย คือ เรื่องการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสุขาภิบาลอาหาร ตรวจสารปนเปื้อน ตรวจรับวัตถุดิบให้ได้ตามเกณฑ์ การสุ่มเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับความเสี่ยงยาฆ่าแมลงในกระแสเลือดของเกษตรกรคู่ค้าของโรงพยาบาลมหาสารคาม และการเยี่ยมสำรวจเพื่อเสริมพลังภายในพื้นที่ดำเนินการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ทำให้มาตรฐานสุขาภิบาลโรงครัวโรงพยาบาลผ่านในระดับ “ดีมาก”

           ความภาคภูมิใจผลงานเด่นจากการพัฒนางานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย คือ เกิดวงจรคุณภาพอาหารปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามมาตรฐานอาหารสากล ราคายุติธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่งเสริมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้เกิดความเข้มแข็งด้านการผลิต การตรวจสอบตามมาตรฐานและบูรณาการกับทุกภาคส่วน และเครือข่ายให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายอาหารปลอดภัย

           นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลประกวดเมนูชูสุขภาพอาหารปลอดภัยระดับเขตสุขภาพที่ 7 ปี 2561 ประเภทอาหาร และเครื่องดื่ม จากรางวัลการันตีแหล่านี้จึงได้รับเลือกให้ใช้เครื่องดื่ม น้ำจระเข้รัญจวนเป็น “Welcome Drink”ในงานประชุมวิชาการนานาชาติเขตสุขภาพที่ 7 เมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา งานวิจัยได้รับรางวัล CQI ชนะเลิศระดับโรงพยาบาลมหาสารคาม และรางวัลชนะเลิศการนำเสนอประเภท Oral Presentation ระดับเขตสุขภาพที่ 7เรื่องการพัฒนาโรงพยาบาลมหาสารคามอาหารปลอดภัย จากการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยของโรงพยาบาลมหาสารคามอย่างครบวงจรได้รับการคัดเลือกเป็นโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยต้นแบบระดับเขตสุขภาพที่ 7 เข้ารับรางวัลกับ ศ.นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561

             การขยายผลสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจุดเริ่มต้นที่ดีจากโรงพยาบาลมหาสารคามที่เป็นต้นแบบด้านอาหารปลอดภัย ทำไม??อาหารปลอดภัยจะต้องมีแต่ในโรงพยาบาล จึงขยายผลสู่ภาคสาธารณะและบูรณาการร่วมกันระหว่างทีมมหาสารคามเมืองสมุนไพร จึงเกิดเป็นโครงการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิต (พชอ.) ด้านอาหารปลอดภัยและเมืองสมุนไพรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ระดับอำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โดยมีการร่วมมือจากทางฝ่ายมหาดไทย นายศิริพันธ์ ขุ่มด้วง นายอำเภอเมืองมหาสารคาม และนายวิชาญ ศรีษะโคตร ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองมหาสารคาม บูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน เช่น สาธารณสุข เกษตรอำเภอ ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชไร่ ปศุสัตว์อำเภอ พัฒนาชุมชน ประมงอำเภอ พาณิชย์จังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด เริ่มดำเนินการเมื่อ 29 ธันวาคม 2560

            โดยมีกิจกรรมตั้งแต่ ต้นทาง (การพัฒนาฐานการผลิตให้ปลอดภัย) – กลางทาง (การสร้างรายได้) – ปลายทาง (อาหารปลอดภัยและการใช้สมุนไพรเข้าสู่ตัวบุคคลและครัวเรือนและประชาชนมีความรอบรู้)

             ปัจจัยแห่งความสำเร็จผู้บริหารให้ความสำคัญ และเปิดโอกาสให้ปฏิบัติงานเต็มที่ มีทีมงานและเครือข่ายที่มีความเข็มแข็ง มีความมุ่งมั่น และทัศนคติที่ดีต่ออาหารปลอดภัย การทำงานเชิงรุกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความร่วมมือประสานงานแนวราบเพื่อลดขั้นตอน การสร้างแรงจูงใจผู้ผลิต “ใช้บุญที่ทำกับคนป่วยเพื่อการจูงใจ”

............ต้นไม้แห่งความฝัน จึงเติบโตแล้วที่อำเภอเมืองมหาสารคาม.......ผลิดอก ออกผล เป็นสุขภาวะที่ดีลดการเจ็บป่วย มีเงินมีทองใช้ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่บ้านจึงสวยเมืองจึงสุขเหมือนใบที่แผ่ปกคลุมลำต้นให้ความร่มเย็น เสริมรากแก้วให้แข็งแกร่งด้วยโครงการโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย และการดำเนินงานอาหารปลอดภัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวอำเภอเมืองมหาสารคามให้ยั่งยืนมีภาคีเครือข่ายคอยจับมือช่วยเหลือไม่ทิ้งกันพยุงต้นไม้ให้เจริญเติบโตเบ่งบาน ทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องราว   ดี ๆ ที่มีจุดกำเนิดมาจากโรงพยาบาลมหาสารคามที่นำมาร้อยเรียงผ่านตัวอักษร และให้ภาพเล่าเรื่อง การดำเนินการ ความภาคภูมิใจ การขยายผล และปัจจัยแห่งความสำเร็จ แบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาคน พัฒนางาน มุ่งสร้างนวัตกรรม ได้อย่างแท้จริง

Pariya
เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด