กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่

เราควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เกิดเชื้อใหม่ขึ้น ภูมิคุ้มกันเดิมอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราที่มีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นมักจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเข้าใจว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% ดังนั้น ผู้รับวัคซีนนี้ยังคงต้องดูแลตนเองให้แข็งแรง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ

1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วย

- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

- ผู้ที่เข้ารับการบำบัดอยู่ใน nursing home และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรัง

- ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคหอบหืด

- ผู้ใหญ่ หรือเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกัน

- เด็กหรือวัยรุ่น (6 เดือน – 18 ปี) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพรินเป็นประจำจะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น Reye\\\\\\\'s Syndrome หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

2. บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้เป็นโรค

3. ประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีด

อาการที่อาจเกิดหลังจากได้รับวัคซีน เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดบวมบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน บางรายอาจพบอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย มีห้อเลือด หรือคันบริเวณที่ฉีด แต่อาการจะสามารถหายเองได้ภายใน

1 – 2 วัน หากอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ห้ามให้ใน

1. ผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ไข่ โปรตีนจากไก่ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน เช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) และยาโพลีมัยซิน (Polymyxin)

2. ผู้ที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน

3. ผู้ป่วยโรคกิลเลน-บารร์เร่ ซินโดรม (Guillain-Barre Syndrome) หรือโรคที่ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย

4. ผู้ที่มีไข้ เจ็บป่วย หรือไม่สบายในวันที่จะรับวัคซีนนี้ ควรเลื่อนนัดออกไปก่อน และกลับมาฉีดเมื่ออาการดีขึ้น

5. ผู้ที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยมาไม่เกิน 1 สัปดาห์หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์