ข่าวสารจาก อย.

สารอันตรายในอาหารหมักดอง

สารอันตรายในอาหารหมักดอง


อาหารหมักดองกลับมาได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะรสชาติถูกปาก สามารถเก็บไว้กินได้นาน หาซื้อได้ง่าย แถมปัจจุบันยังมีหลากหลายเชื้อชาติ เช่น กิมจิ นัตโตะ หากผ่านกรรมวิธีปรุงแต่งที่ถูกต้องก็มีประโยชน์ต่อผู้บริโภคไม่น้อย แต่มีอาหารหมักดองอีกหลายชนิดที่ปัจจุบันตรวจพบสารห้ามใช้ หรือวัตถุเจือปนอาหารที่หากใช้ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย

1. วัตถุเจือปนอาหาร คือ สารที่มีความปลอดภัยสำหรับการใช้ในอาหาร แต่ต้องใช้ให้ถูกต้องตามชนิดอาหารและปริมาณที่กฎหมายกำหนด

     1.1 สารซัคคาริน (Saccharin) หรือ ขัณฑสกร คือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มาจากการสังเคราะห์ อาจเรียกได้ว่าน้ำตาลเทียม ด้วยคุณสมบัติที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 300-700 เท่า มีราคาถูก ให้รสหวานจัด ติดลิ้น และไม่ให้พลังงาน ขัณฑสกรจึงถูกนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนอย่างแพร่หลาย

     1.2 สารฟอกขาว เป็นกลุ่มที่เรียกว่า ซัลไฟต์  เป็นสารที่ยับยั้งอาหารไม่ให้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เช่น ถั่วงอก ขิงซอย ยอดมะพร้าว หน่อไม้ดอง เพื่อให้ดูน่ารับประทานมากขึ้น อาการของผู้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมากจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว อุจจาระร่วง ผู้ที่แพ้อย่างรุนแรงอาจช็อคและหมดสติได้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่โดนแดดนาน ๆ แล้วสีไม่คล้ำ และเลือกกินอาหารที่มีสีใกล้เคียงธรรมชาติไม่ขาวจนเกินไป

2. สารห้ามใช้ คือ สารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับใช้ในอาหารจึงมีกฎหมายกำหนดเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ได้แก่

     2.1 ผงกรอบหรือน้ำประสานทอง (บอแรกซ์) เป็นชื่อที่คุ้นเคยกันดี มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมเตตราบอเรต (Sodium tetraborate) ซึ่งมีผู้ผลิตลักลอบใส่ในอาหารเพื่อให้ดูเด้ง หยุ่น กรุบกรอบน่ากิน ผู้บริโภคบางรายกินเข้าไปปริมาณมาก อาจมีอาการอาเจียน น้ำหนักลด มีผื่นคันที่ผิวหนัง ตาบวม เยื่อตาอักเสบ ปวดท้อง ท้องร่วง ตับและไตอักเสบ อาจชัก และเสียชีวิตได้ จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มักพบว่าลักลอบใส่บอแรกซ์ ได้แก่ หมูบด ลูกชิ้น ทอดมัน หมูสด เนื้อสด ไส้กรอก ผลไม้ดอง ทับทิมกรอบ ลอดช่อง เป็นต้น

    2.2 สารกันราหรือกรดซาลิซิลิค มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้ดี ใช้ทำยา หรือเครื่องสำอางบางชนิด แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จึงห้ามใช้ในอาหาร ผู้ที่กินเข้าไปอาจจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาจระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ บางรายเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ หรืออาจเป็นผื่นตามผิวหนังลำตัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง เลือกกินอาหารที่สดใหม่

การเลือกซื้อ กรณีที่อาหารไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรดูลักษณะทางกายภาพว่า มีสิ่งเจือปน สีและกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยรับประทานหรือไม่ โดยเลือกซื้อจากสถานที่จําหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย กรณีที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรสังเกตสภาพภายนอกของบรรจุภัณฑ์ ต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยบุบหรือฉีกขาด มีการเก็บรักษาในสภาพที่เหมาะสม และมีรายละเอียดบนฉลากอาหารให้ครบถ้วน ที่สำคัญ จะต้องมีการแสดงเลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. เพื่อแสดงว่าได้รับอนุญาตจาก อย.

 

ข้อมูลอ้างอิง : 

https://www.rajavithi.go.th/rj/?p=4784

อันตรายจากอาหารปิ้งย่าง และของหมักดอง (dss.go.th)

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : อย. แนะ บริโภคปลาร้า ปลาส้ม ให้ปลอดภัย เน้นปรุงสุก ลดความเสี่ยง (oryor.com)

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : รู้ยัง! กรดซาลิซิลิคหรือสารกันรา อันตรายนะ... (oryor.com)

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา : 3 เคล็ดลับ หลีกเลี่ยงอันตรายจากสารกันรา (oryor.com)

9-สารกันรา.pdf (moph.go.th)

สารปนเปื้อนในอาหารสด (rtaf.mi.th)

กินไม่(คิด) ชีวิตเสี่ยงโรค | Vibhavadi

สารเคมีในอาหาร (chemtrack.org)

Food Additive (วัตถุเจือปนอาหาร) | การใช้และกฏหมายเพื่อขึ้นทะเบียน อย (tinnakorn.com)

12 มกราคม 2566

อย. เตือน อย่านำยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นปลาแดดเดียว

อย. เตือนภัย อย่านำยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นปลาแดดเดียว เพื่อป้องกันแมลงวันตอม คนกินอันตราย คนขายก็มีความผิดด้วย เพราะเป็นการจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีมีผู้โพสต์เฟสบุ๊ก ซื้อปลาแดดเดียวมาทอดให้ลูกสาวอายุ 2 ปี 4 เดือน กิน มีอาการชักเกร็ง คอแข็ง ลิ้นแข็ง น้ำลายไหล แพทย์ระบุว่าได้รับสารพิษจำพวกยาฆ่าแมลงออแกโนฟอสเฟตนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย หากมีการนำยาฆ่าแมลงมาฉีดพ่นลงในตัวปลาแดดเดียว เพื่อป้องกันแมลงวันตอม วิธีการเช่นนี้นับว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคอย่างมาก ทั้งนี้ ยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (Organophosphates) เป็นสารเคมีกำจัดแมลงที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศเกษตรกรรม แต่มีพิษเฉียบพลันสูง ทำให้หลอดลมตีบ หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องบิด ท้องเสีย เหงื่อออก น้ำลายน้ำตาไหล ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ม่านตาเล็ก ตามัว ปัสสาวะบ่อยกลั้นไม่อยู่ ทั้งนี้ อาการที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณของสารและน้ำหนักตัวของผู้ที่ได้รับสารจากอาหารที่มีสารดังกล่าว นอกจากนี้ การใช้สารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตในปลาแดดเดียวดังกล่าว เป็นการใช้ผิดวัตถุประสงค์ เนื่องจากเป็นการใช้ฉีดพ่นอาหารโดยตรง ซึ่งอาหารที่มีการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองเลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ผู้บริโภคควรเลือกซื้อปลาแดดเดียวจากสถานที่จำหน่ายที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ เนื่องจากปกติแล้วอาหารจําพวกปลาตากแห้งมักมีแมลงวันตอม แต่หากไม่พบแมลงวันมาตอมก็อย่าได้วางใจซื้อ ควรล้างให้สะอาดและนํามาผ่านความร้อนให้สุกก่อนนํามารับประทานหากผู้บริโภคไม่แน่ใจในคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค และหากมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

4 มกราคม 2566

อย. ยัน ยาลดไข้อินเดียที่พบสารปนเปื้อน ไม่มีจำหน่ายในไทย

อย. ตรวจสอบแล้ว ยาลดไข้อินเดียที่ตรวจพบสารปนเปื้อนวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ไม่พบการขึ้น ทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าวในประเทศไทย และไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ต รวมทั้งไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปและวัตถุดิบที่มาจากบริษัทที่ผลิตยาดังกล่าว อย. เน้นมีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวดและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายแพทย์วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า กรณีที่มี ข่าวเด็กในสาธารณรัฐอุซเบกิซถานเสียชีวิต จำนวน 18 ราย หลังรับประทานยาน้ำลดไข้ “ดอค-วัน แม็กซ์” ที่ผลิตโดยบริษัท มาเรียนไบโอเทค จากประเทศอินเดีย โดยตรวจพบการปนเปื้อนสารเอทิลีนไกลคอล (ethylene glycol) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบแล้ว ไม่พบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาดังกล่าว และไม่พบข้อมูลการขายบนอินเทอร์เน็ตของประเทศไทย รวมทั้งไม่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสำเร็จรูปและวัตถุดิบที่มาจากบริษัท มาเรียนไบโอเทคฯ

 ทั้งนี้สารปนเปื้อนดังกล่าวจัดเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหาร ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เช่น ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย ปัสสาวะไม่ออก ปวดศีรษะ สภาพจิตใจผิดปกติ ไตวาย และอาจเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อย. มีมาตรการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศอย่างเข้มงวด และจะดำเนินการเฝ้าระวังอย่าง ต่อเนื่องต่อไป

4 มกราคม 2566

กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่

เราควรต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เกิดเชื้อใหม่ขึ้น ภูมิคุ้มกันเดิมอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ และภูมิคุ้มกันของร่างกายคนเราที่มีต่อเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นมักจะลดต่ำลงเรื่อย ๆ และผู้ที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเข้าใจว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ 100% ดังนั้น ผู้รับวัคซีนนี้ยังคงต้องดูแลตนเองให้แข็งแรง และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ผู้ที่ควรได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ

1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วย

- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

- ผู้ที่เข้ารับการบำบัดอยู่ใน nursing home และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรัง

- ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคระบบหัวใจ และหลอดเลือด รวมทั้งเด็กที่เป็นโรคหอบหืด

- ผู้ใหญ่ หรือเด็กที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบภูมิคุ้มกัน

- เด็กหรือวัยรุ่น (6 เดือน – 18 ปี) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพรินเป็นประจำจะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็น Reye\\\\\\\'s Syndrome หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

2. บุคลากรทางการแพทย์ หรือบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้เป็นโรค

3. ประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีด

อาการที่อาจเกิดหลังจากได้รับวัคซีน เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดบวมบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน บางรายอาจพบอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย มีห้อเลือด หรือคันบริเวณที่ฉีด แต่อาการจะสามารถหายเองได้ภายใน

1 – 2 วัน หากอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลง ควรรีบไปพบแพทย์

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ห้ามให้ใน

1. ผู้ที่แพ้ยา/แพ้วัคซีน หรือส่วนประกอบของวัคซีนนี้ โดยเฉพาะผู้ที่แพ้ไข่ โปรตีนจากไก่ ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในกระบวนการผลิตวัคซีน เช่น ยานีโอมัยซิน (Neomycin) และยาโพลีมัยซิน (Polymyxin)

2. ผู้ที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน

3. ผู้ป่วยโรคกิลเลน-บารร์เร่ ซินโดรม (Guillain-Barre Syndrome) หรือโรคที่ความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย

4. ผู้ที่มีไข้ เจ็บป่วย หรือไม่สบายในวันที่จะรับวัคซีนนี้ ควรเลื่อนนัดออกไปก่อน และกลับมาฉีดเมื่ออาการดีขึ้น

5. ผู้ที่เพิ่งหายจากการเจ็บป่วยมาไม่เกิน 1 สัปดาห์หรือเพิ่งออกจากโรงพยาบาล ได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์

4 มกราคม 2566

ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย. ปราบเภสัชกรเถื่อน ขายยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล)ให้กลุ่มวัยรุ่นใช้ผสม 4x100 ตรวจค้นร้านยาใน กทม. 4 จุด

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมกวาดล้างเภสัชกรเถื่อน เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง 22 รายการ

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ทำการตรวจสอบร้านขายยาที่มีการสั่งซื้อยากลุ่มแก้ปวด (ทรามาดอล) และยาแก้แพ้ แก้ไอในปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมักจะนำมาผสมสารเสพติดชนิด 4x100 จึงทำการสืบสวน และในวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ได้ร่วมกับ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 4 จุด ผู้ต้องหา 4 ราย ตรวจยึดของกลาง 22 รายการ รายละเอียดดังนี้

1. ร้านน้ำหวานเภสัช เลขที่ 57 ซอยพหลโยธิน 55 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุมนายนฤมิตร์(สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ที่ขายยา ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยนายนฤมิตร์ฯ เป็นเจ้าของร้าน เปิดร้านและขายยาด้วยตนเอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีความรู้เรื่องยาเนื่องจากพี่สาวเป็นเภสัชกร โดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี ตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้ไอแก้แพ้ 11 ขวด, ยาเขียวเหลือง (ทรามาดอล) และยากลุ่มบรรเทาปวดอื่น 610 แคปซูล

2. ร้านต้นยา 8 ฟาร์มาซี เลขที่ 35 ห้อง T.002 อาคารตุลาแมนชั่น ซอยรามคำแหง 50 (สหกรณ์ 1) ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกร อยู่ปฏิบัติหน้าที่ และจับกุมนายปภัสสร(สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี พนักงานที่ขายยา ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาอันตรายระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” โดยนายประภัสสรฯ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และรับว่าตนเคยมีประสบการณ์ทำงานร้านขายยา มาก่อนโดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี และรับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยากลุ่มบรรเทาปวด จำนวน 1,510 แคปซูล

3. บ้านยา B&M เลขที่ 54 ซอยลาดกระบัง 13/5 ถนนฉลองกรุง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุม น.ส.นรูอาดณี(สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี พนักงานขายยาในร้าน ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดย น.ส.นรูอาดณีฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการเรื่องยาแต่อย่างใด และเพิ่งทำงานร้านขายยาได้ 2 วัน รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) จำนวน 1,960 แคปซูล และยาแก้ไอยี่ห้อ Datissin จำนวน 3,607 ขวด

4. ร้านยาโปรด เลขที่ 243/11 ซอยลาดพร้าว 1 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุมนายเศรษฐโรจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี พนักงานขายยาในร้าน ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยนายเศรษฐโรจน์ฯ ยอมรับว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีความรู้เรื่องยาเนื่องจากเคยอบรมหลักสูตรผู้ช่วยร้านขายยา และทำมาแล้วประมาณ 1 ปี รับค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยากลุ่มแก้แพ้แก้ไอ จำนวน 217 ขวด และยากลุ่มบรรเทาปวดอื่น 2,090 แคปซูล

รวมตรวจค้น 4 จุด โดยร้านขายยาทั้งหมดเป็นสถานที่ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน แต่ไม่มี   เภสัชกรประจำอยู่ และผู้ที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกรโดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 3 ราย และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย  ตรวจยึดของกลางรวม 22 รายการ เป็นยาแก้ไอแก้แพ้ 3,835 ขวด, ยาทรามาดอลและยากลุ่มแก้ปวด 6,170 เม็ด รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต 4 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

  1. พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่”

ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบจับกุมเครือข่ายร้านขายยายากลุ่มเสี่ยงร่วมกับ บก.ปคบ. ครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 4 พบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตมีผู้ดำเนินกิจการเป็นชื่อเดียวกันและเปิดเป็นเครือข่ายหลายร้าน และกลุ่มร้านขายยาที่มิใช่เครือข่าย โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีพฤติการณ์ในยาแก้ปวดทรามาดอล และยาแก้แพ้ แก้ไอ ให้แก่กลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ส่งเสริมการมอมเมาเยาวชนและเกิดปัญหาต่อสังคมตามมาอีกมากมาย

จึงขอเตือนผู้ประกอบการร้านขายยาให้ตะหนักว่าร้านขายยาเป็นด่านคัดกรองความเจ็บป่วยเบื้องต้นในชุมชน ดังนั้นการแนะนำการใช้ยาต้องแนะนำในทางที่ถูกต้อง ไม่ควรเน้นหวังเน้นกำไรและไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และตัวเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการควรมีจรรยาบรรณรับผิดชอบต่อวิชาชีพต่อตนเอง ที่ผ่านมา อย. ดำเนินการทางกฎหมายและทางปกครองกับกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎหมายมาโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน อย.ได้ดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน 20 แห่ง ส่งสภาเภสัชเพื่อพิจารณาจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกร 26 ราย และส่งสภาดำเนินคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ ที่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต 23 ราย ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email:1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าร้านขายยาเป็นสถานที่ซึ่งมีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาสุขภาพได้สะดวกและต้องได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ทางเภสัชกรรม ไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อใช้ช่องว่างในการอำนวยความสะดวกให้เยาวชนเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้น บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมร้านขายยารวมถึงเครือข่ายที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการขออนุญาตเปิดร้านขายยาเพื่อหวังโควต้าในการซื้อยาแก้ไอ แก้แพ้ในปริมาณสูงแล้วนำยาดังกล่าวไปขายแก่กลุ่มเยาวชน เพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4x100 ให้ถึงที่สุด และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

4 มกราคม 2566