ตำรวจสอบสวนกลางร่วม อย. ปราบเภสัชกรเถื่อน ขายยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล)ให้กลุ่มวัยรุ่นใช้ผสม 4x100 ตรวจค้นร้านยาใน กทม. 4 จุด

วันที่ 23 ธันวาคม 2565 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. ธรากร เลิศพรเจริญ, พ.ต.อ.สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ.ณัฐวัฒน์ เกศะรักษ์, พ.ต.อ.สมเกียรติ ตันติกนกพร รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมกวาดล้างเภสัชกรเถื่อน เบื้องต้นมีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหา 4 ราย พร้อมตรวจยึดของกลาง 22 รายการ

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับเรื่องร้องเรียนจาก อย. ให้ทำการตรวจสอบร้านขายยาที่มีการสั่งซื้อยากลุ่มแก้ปวด (ทรามาดอล) และยาแก้แพ้ แก้ไอในปริมาณสูงผิดปกติ ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นมักจะนำมาผสมสารเสพติดชนิด 4x100 จึงทำการสืบสวน และในวันที่ 21 ธันวาคม 2565 ได้ร่วมกับ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวม 4 จุด ผู้ต้องหา 4 ราย ตรวจยึดของกลาง 22 รายการ รายละเอียดดังนี้

1. ร้านน้ำหวานเภสัช เลขที่ 57 ซอยพหลโยธิน 55 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุมนายนฤมิตร์(สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ที่ขายยา ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยนายนฤมิตร์ฯ เป็นเจ้าของร้าน เปิดร้านและขายยาด้วยตนเอง จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและมีความรู้เรื่องยาเนื่องจากพี่สาวเป็นเภสัชกร โดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี ตรวจยึดของกลางเป็นยาแก้ไอแก้แพ้ 11 ขวด, ยาเขียวเหลือง (ทรามาดอล) และยากลุ่มบรรเทาปวดอื่น 610 แคปซูล

2. ร้านต้นยา 8 ฟาร์มาซี เลขที่ 35 ห้อง T.002 อาคารตุลาแมนชั่น ซอยรามคำแหง 50 (สหกรณ์ 1) ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกร อยู่ปฏิบัติหน้าที่ และจับกุมนายปภัสสร(สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี พนักงานที่ขายยา ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต และขายยาอันตรายระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่” โดยนายประภัสสรฯ จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และรับว่าตนเคยมีประสบการณ์ทำงานร้านขายยา มาก่อนโดยทำมาแล้วประมาณ 3 ปี และรับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยากลุ่มบรรเทาปวด จำนวน 1,510 แคปซูล

3. บ้านยา B&M เลขที่ 54 ซอยลาดกระบัง 13/5 ถนนฉลองกรุง แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุม น.ส.นรูอาดณี(สงวนนามสกุล) อายุ 24 ปี พนักงานขายยาในร้าน ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดย น.ส.นรูอาดณีฯ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ได้มีความรู้หรือประสบการเรื่องยาแต่อย่างใด และเพิ่งทำงานร้านขายยาได้ 2 วัน รับค่าจ้างเดือนละ 12,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยาเขียวเหลือง(ทรามาดอล) จำนวน 1,960 แคปซูล และยาแก้ไอยี่ห้อ Datissin จำนวน 3,607 ขวด

4. ร้านยาโปรด เลขที่ 243/11 ซอยลาดพร้าว 1 ถนนลาดพร้าว แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะตรวจสอบร้านขายยาดังกล่าวไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ จับกุมนายเศรษฐโรจน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี พนักงานขายยาในร้าน ในความผิดฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต” โดยนายเศรษฐโรจน์ฯ ยอมรับว่าจบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีความรู้เรื่องยาเนื่องจากเคยอบรมหลักสูตรผู้ช่วยร้านขายยา และทำมาแล้วประมาณ 1 ปี รับค่าจ้างเดือนละ 9,000 บาท ตรวจยึดของกลางเป็นยากลุ่มแก้แพ้แก้ไอ จำนวน 217 ขวด และยากลุ่มบรรเทาปวดอื่น 2,090 แคปซูล

รวมตรวจค้น 4 จุด โดยร้านขายยาทั้งหมดเป็นสถานที่ได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน แต่ไม่มี   เภสัชกรประจำอยู่ และผู้ที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกรโดยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี 3 ราย และมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1 ราย  ตรวจยึดของกลางรวม 22 รายการ เป็นยาแก้ไอแก้แพ้ 3,835 ขวด, ยาทรามาดอลและยากลุ่มแก้ปวด 6,170 เม็ด รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต 4 ราย โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา

การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม

  1. พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2537 มาตรา 28 ฐาน “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  2. พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 มาตรา 32 ฐาน “ขายยาอันตรายในระหว่างที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่”

ระวางโทษปรับ 1,000-5,000 บาท

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า การดำเนินการตรวจสอบจับกุมเครือข่ายร้านขายยายากลุ่มเสี่ยงร่วมกับ บก.ปคบ. ครั้งนี้เป็นการดำเนินการครั้งที่ 4 พบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตมีผู้ดำเนินกิจการเป็นชื่อเดียวกันและเปิดเป็นเครือข่ายหลายร้าน และกลุ่มร้านขายยาที่มิใช่เครือข่าย โดยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีพฤติการณ์ในยาแก้ปวดทรามาดอล และยาแก้แพ้ แก้ไอ ให้แก่กลุ่มวัยรุ่นเพื่อนำยาไปใช้ในทางที่ผิด ส่งเสริมการมอมเมาเยาวชนและเกิดปัญหาต่อสังคมตามมาอีกมากมาย

จึงขอเตือนผู้ประกอบการร้านขายยาให้ตะหนักว่าร้านขายยาเป็นด่านคัดกรองความเจ็บป่วยเบื้องต้นในชุมชน ดังนั้นการแนะนำการใช้ยาต้องแนะนำในทางที่ถูกต้อง ไม่ควรเน้นหวังเน้นกำไรและไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และตัวเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการควรมีจรรยาบรรณรับผิดชอบต่อวิชาชีพต่อตนเอง ที่ผ่านมา อย. ดำเนินการทางกฎหมายและทางปกครองกับกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎหมายมาโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จนถึงปัจจุบัน อย.ได้ดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตร้านขายยาแผนปัจจุบัน 20 แห่ง ส่งสภาเภสัชเพื่อพิจารณาจรรยาบรรณวิชาชีพเภสัชกร 26 ราย และส่งสภาดำเนินคดีกับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ ที่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต 23 ราย ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email:1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าร้านขายยาเป็นสถานที่ซึ่งมีเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาสุขภาพได้สะดวกและต้องได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ทางเภสัชกรรม ไม่ใช่สถานที่ที่ใช้เพื่อใช้ช่องว่างในการอำนวยความสะดวกให้เยาวชนเข้าถึงยาเสพติดง่ายขึ้น บก.ปคบ.จะดำเนินกวดขันจับกุมร้านขายยารวมถึงเครือข่ายที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการขออนุญาตเปิดร้านขายยาเพื่อหวังโควต้าในการซื้อยาแก้ไอ แก้แพ้ในปริมาณสูงแล้วนำยาดังกล่าวไปขายแก่กลุ่มเยาวชน เพื่อตัดตอนการเข้าถึงยาเสพติดชนิด 4x100 ให้ถึงที่สุด และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค